เดือนรอมฎอน ซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด
ทุกปีในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่ 9
ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม เป็นช่วงเวลาที่มุสลิมทั่วโลกประมาณ 1,500
ล้านคนทั้งชายหญิงที่พ้นวัยแห่งความเป็นเด็กแล้วจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ
การถือศีลอด (ภาษาอาหรับเรียกว่า "อัศเซาม์" หรือ "ศิยาม")
ตามหลักการอิสลาม การเจตนาหลีกเลี่ยงหน้าที่นี้ถือเป็นบาป
การถือศีลอดคืออะไร
การถือศีลอดตามความหมายทางศาสนาของอิสลาม
คือการงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศ
ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกตลอดทั้งเดือนรอมฎอนของทุกปีซึ่งอาจจะมีระยะเวลา
29 หรือ 30 วัน
โดยมีเจตนาว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ
ความสำคัญของการถือศีลอด
1). การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์
และนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์
2). ดำรงละหมาด
3). การบริจาคทาน (ซะกาต)
4). ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
5). ประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะฮ์
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น มีวัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก
ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต และเมื่อได้สัมผัส
ได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากแล้ว
การถือศีลอดจึงส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ถือศีลนั้นรู้จักอดกลั้นอดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆ
ด้วยความพากเพียรและสติปัญญา กล่าวคือ ฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนให้เป็นผู้มีสติ
หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้นทั้งต่อความหิวโหย ต่อความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์
และสิ่งยั่วยวนนานับประการ ซึ่งผลที่ได้จากความเพียร คือ
การพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี มีความใฝ่สูงด้านจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
และพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ นานา มุ่งสู่ความสำเร็จ
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต
ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรง
และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า
ข้อควรปฏิบัติในการถือศีลอดที่ถูกต้อง
1. รับประทานอาหารซุโฮร์ให้ใกล้หมดเวลา
และรีบแก้ศีลอดเมื่อเข้าเวลา
2. ไม่พูดนินทา ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ
อ่านอัลกุรอ่าน
3. เคี้ยวอาหารช้าๆ ห้าสิบครั้งต่อคำ
ควรทานอาหารไม่อิ่มแน่นมาก
4. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ หลังรับประทานอาหาร
5. รับประทานอาหารเหมือนปกติ ไม่ควรเพิ่มอาหารมาก
6. เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
7. ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน)
ทุกๆ วัน อย่างช้าๆ ไม่รีบ
8. แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่ถือศีลอด
9. พยายามเลิกสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่,
ชา, กาแฟ ฯลฯ
10. ควรตรวจร่างกายก่อนเข้าเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นเดือนรอมฎอน
ข้อห้ามขณะถือศีลอด
1. ห้ามรับประทานหรือดื่ม
รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา
2. ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา
3. ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา
4. ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู
เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา
ข้อห้ามเหล่านี้ ห้ามเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น
ส่วนน้ำลายในปากกลืนได้ไม่ห้าม